การกู้ร่วมช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้บ้านให้ผ่านได้ แต่ก่อนตัดสินใจกู้ร่วม ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้กู้ร่วม ความรับผิดต่อภาระหนี้ การถือกรรมสิทธิ์ และสิทธิลดหย่อนภาษี เพื่อให้สามารถตัดสินใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง การมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งมาพร้อมกับภาระการกู้เงินจำนวนไม่น้อยเลย ซึ่งการจะกู้ให้ผ่านนั้น สถาบันการเงินจะพิจารณาจาก “ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้” ซึ่งแปรผันตามรายได้ของผู้กู้ คนที่มีรายได้สูงก็มีแนวโน้มยื่นกู้คนเดียวผ่าน ส่วนคนที่กู้เดี่ยวไม่ไหวก็จำเป็นต้องหาคนมากู้ร่วมด้วย ซึ่งเรได้รวบรวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการกู้ร่วมมาให้แล้วดังนี้
ผู้กู้ร่วม
สถาบันการเงินมักกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ผู้กู้ร่วมต้องมีสายโลหิตเดียวกัน เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง เครือญาติ หรือคู่สมรส แต่หากเป็นกรณีที่เป็นพี่น้องที่ใช้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้ โดยแสดงหลักฐาน เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีบิดาหรือมารดาเดียวกัน ส่วนคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนและยังไม่มีลูกสามารใช้ใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจซึ่งระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียน เป็นหลักฐานในการกู้ได้ แต่หากมีลูกร่วมกันให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งระบุชื่อของคู่สมรสที่มากู้ร่วม เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินด้วย
สำหรับจำนวนคนที่จะมากู้ร่วมกันนั้นสามารถกู้ร่วมได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน โดยผู้กู้ร่วมแต่ละคนต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ คือมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด ส่วนใหญ่ระบุไว้ที่ไม่น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ไม่มีภาระผ่อนที่มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น หากความสามารถในการชำระหนี้มีน้อยหรือเคยมีประวัติหนี้เสีย การมากู้ร่วมจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
ความรับผิดต่อภาระหนี้
การกู้ร่วมไม่ได้แบ่งเป็นผู้กู้หลักหรือผู้กู้รองอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ผู้กู้ร่วมทุกคนเสมือนเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินในลำดับเดียวกัน ดังนั้น หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ สถาบันการเงินจะเรียกชำระหนี้คืนจากผู้กู้รายใดรายหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ และแม้จะถึงขั้นมีการยึดทรัพย์เพื่อไปขายทอดตลาดแล้ว ความรับผิดต่อหนี้ก็ยังไม่จบ เพราะหากจำนวนเงินที่ได้น้อยกว่ายอดหนี้คงค้าง ผู้กู้ร่วมก็ต้องรับผิดในการชำระคืนเงินให้ครบต่อไป
การถือกรรมสิทธิ์
ในส่วนของการถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นหลักประกันนั้น ผู้กู้แต่ละคนจะถือสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้น ๆ โดยปกติแล้ว เวลาจำนองก็จำนองชื่อร่วม เวลาไถ่ถอนจำนองก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของผู้กู้ร่วมทุกคน อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติก็มีกรณีที่บิดาหรือมารดากู้ร่วมกับบุตร แล้วต้องการจะยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรแต่เพียงผู้เดียว หรือพี่ต้องการยกให้น้อง สามีต้องการยกให้ภรรยา เป็นต้น ซึ่งสามารถทำได้ เพียงแต่ต้องระบุลงในแบบฟอร์มการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในช่วงแรก ๆ เลยว่าให้ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
เรื่องนี้สำคัญเพราะเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วจะขอยกให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ภาครัฐจะมองว่าเป็นการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขาย ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีที่ผู้กู้ร่วมเป็นคู่สมรสชาวต่างชาติจะมีข้อจำกัดเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ เพราะตามกฎหมายแล้วชาวต่างชาติไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยได้ แม้ว่าจะกู้ร่วมกันก็ตาม ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และเมื่อถึงเวลาไถ่ถอนหลักประกัน กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของคู่สมรสชาวไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ การกู้ร่วมกับชาวต่างชาติยังส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขการให้สินเชื่ออีกด้วย เช่น จำกัดวงเงินเหลือเพียงร้อยละ 50 ถึง 60 ของราคาขายหรือราคาประเมิน แล้วแต่อันไหนจะต่ำกว่า จากปกติประมาณร้อยละ 80 ถึง 90 ของราคาประเมิน และยังจำกัดระยะเวลากู้เงินสูงสุดเหลือประมาณ 8 ปี จากปกติอยู่ที่ 30 ปี